กฟน.เร่งดึงสายไฟลงใต้ดิน ดัน กทม.สู่ “มหานครไร้สาย”
ปัญหาสายไฟระโยงระยางตามพื้นที่ต่างๆ ก็ค่อยๆ ปรับแก้ลงใต้ดินกันไป ใช้เวลามานานหลายปี แต่ว่าต้นเดือนนี้มีความดีมาฝากค่ะ ล่าสุด! กฟน.เตรียมเร่งเครื่อง 10 ปีดันพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี สู่มหานครไร้สายแห่งอาเซียน
หลังรัฐบาล คสช.เปิดไฟเขียวแผนพัฒนา 10 ปี (2559-2568) ในพื้นที่ 3 จังหวัด กรุงเทพฯ ระยะทาง 88.1 กม. สมุทรปราการ 25.7 กม. และนนทบุรี 13.5 กม. วงเงิน 48,717 ล้านบาท ตามที่ “กฟน.” เสนอ เพื่อไปสู่เป้าหมายให้เป็นมหานครไร้สายแห่งอาเซียน
ตามแผนมีทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ โครงการติวานนท์-แจ้งวัฒนะ, ลาดพร้าว-รามคำแหง, สามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, สาทร-เจริญราษฎร์, วงเวียนใหญ่-อรุณอมรินทร์, เทพารักษ์-สุขุมวิท และเขตพื้นที่เมืองชั้นใน
เทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2561 ภายในเดือน มี.ค.นี้จะเริ่มพื้นที่ถนนราชปรารภจากแยกประตูน้ำ-ทางข้ามทางรถไฟสถานีราชปรารภ ระยะทาง 600 เมตร จะแล้วเสร็จก่อนสงกรานต์ปี 2561
จากนั้นในเดือน เม.ย.จะรื้อย้ายสายไฟและเสาถนนพระราม 1 ช่วงสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานถึงสะพานรถเมล์ ระยะทาง 1.2 กม. และถนนรัชดาฯ ระยะทางรวม 22.5 กม. ระยะแรกตั้งแต่แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าวถึงแยกพระราม 9 ระยะทาง 14.3 กม. ค่าก่อสร้าง 4,300 ล้านบาท ระยะที่ 2 จากแยกพระราม 9 ถึงแยกคลองเตย ถนนพระราม 4 ระยะทาง 8.2 กม. ค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างสิ้นปี 2561 แล้วเสร็จปี 2564
โครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการคือแถวช่องนนทรี ระยะทาง 8.3 กม. ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี หรือปี 2563, พระราม 3 ตั้งแต่สะพานพระราม 9 ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระยะทาง 10.9 กม. วงเงิน 1,520 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่ถนนพระราม 3 ซอย 47 ถึงแยกพระราม 3 ถนนนราธิวาสฯ ระยะที่ 2 แยกพระราม 3 นราธิวาสฯ ถึงถนนเลียบทางพิเศษ ระยะ 3 ตั้งแต่แยกสะพานพระราม 9 ถึงถนนพระราม 3 ซอย 47 ปี 2563 แล้วเสร็จ 6 กม. และปี 2564 อีก 4 กม.