วิธีเช็คความปลอดภัยของ “ยาแผนโบราณ” จากทะเบียนตำรับยา
อันตรายจากยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา
ยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา อาจมีสารอันตรายอื่นๆ เจือปน เช่น สเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่างๆ ได้ เช่น
– ระคายเคืองกระเพาะอาหาร นานวันเข้าอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร จนอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้
– ส่วนต่างๆ ของร่างกายมีอาการบวม ตึง ผิดปกติ (ไม่ได้มาจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น)
– ความดันโลหิต และ/หรือ น้ำตาลในเลือดสูง
– กระดูกผุกร่อน หักเปราะง่าย
– ภูมิต้านทานโรคต่ำ ป่วยง่าย ติดเชื้อง่าย
เป็นต้น
การเลือกซื้อยาแผนโบราณมารับประทานเอง ให้ปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด ควรตรวจสอบจากเวลทะเบียนตำรับยา จากฉลากข้างผลิตภัณฑ์ โดยวิธีตรวจสอบเบื้องต้น ทำได้ดังนี้ค่ะ
- มองหาตัวเลขหลังคำว่า Reg.No. (Registered Number) ที่ข้างฉลาก
- รหัสที่พบ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ประเภทของยา ลำดับที่ลงทะเบียน / ปีที่ลงทะเบียน
เช่น G 234/45 จะถอดความหมายออกมาได้ว่า G หมายถึง ยาแผนโบราณที่ใช้กับมนุษย์ และผลิตในประเทศไทย ลงทะเบียนเป็นยาลำดับที่ 234 ในปี 2545
รายละเอียดประเภทของยา
ยาแผนปัจจุบัน
1A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (ยาเดี่ยว)
1B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (ยาเดี่ยว)
1C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (ยาเดี่ยว)
1D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (ยาเดี่ยว)
1E : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (ยาเดี่ยว)
1F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ (ยาเดี่ยว)
2A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (ยาผสม)
2B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (ยาผสม)
2C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ (ยาผสม)
2D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (ยาผสม)
2E : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (ยาผสม)
2F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ (ยาผสม)
ยาแผนโบราณ
G : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ
H : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ
K : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ
L : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ
M : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ
N : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ