อนาคตอันใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี

  โมโนเรลสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี  เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทางมี 30 สถานี ใช้ระบบและขบวนรถของบอมบาร์ดิเอร์รุ่นใหม่ล่าสุด คือ รุ่น Innova 300 สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 40,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง มีความเร็วเฉลี่ย 35-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรีและจังหวัดนนทบุรี

แนวเส้นทาง
มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่าง ศูนย์ราชการนนทบุรีและแยกแคราย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่–บางซื่อ)
 บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นจะวิ่งเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าถนนติวานนท์ วิ่งตามถนนติวานนท์จนถึงแยกปากเกร็ด เลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ผ่านศูนย์ราชการ ผ่านทางแยกหลักสี่ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยมีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ (Interchange Station) เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสาย สีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทรา ยกระดับข้ามทางพิเศษฉลองรัชบริเวณแยกวัชรพล จนถึงแยกมีนบุรีแล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ จากนั้นจะข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและข้ามเข้าถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3 ) จนสิ้นสุดบริเวณทางแยกร่มเกล้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน–มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี มีความยาวของแนวเส้นทางทั้งสิ้นประมาณ 34.5 กิโลเมตร

รูปแบบ & สถานี

โครงการก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดแนวเส้นทาง  ขณะที่สถานีซึ่งเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ส่วนใหญ่มีชั้นจำหน่ายบัตรโดยสารอยู่ชั้นที่ 2 และชั้นชานชาลาอยู่ชั้นที่ 3 ก่อสร้างอยู่เหนือพื้นที่ผิวจราจรของถนนสายหลัก โดยมีทั้งสิ้น 30 สถานี  ดังนี้

1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่–บางซื่อ) สถานีนี้ตั้งอยู่บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีบนถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี
 2.สถานีแคราย ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์
 ใกล้แยกแคราย ฝั่งทิศตะวันออกเป็นโรงพยาบาลโรคทรวงอก และฝั่งตะวันตกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 11 และ 13
3.สถานีสนามบินน้ำ
 สถานีสนามบินน้ำ ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ใกล้กับแยกสนามบินน้ำ ฝั่งทิศตะวันออกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 38 และ 40 และฝั่งตะวันตกอยู่ระหว่างติวานนท์ ซอย 27 และ 29
4.สถานีสามัคคี
 ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ ระหว่างซอยสามัคคีกับคลองบางตลาดโดยสถานีจะตั้งอยู่ก่อนถึงสะพานข้ามคลองบางตลาด
5.สถานีกรมชลประทาน
 ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ อยู่ระหว่างโรงเรียนชลประทานวิทยา และวิทยาลัยการชลประทาน ใกล้กับซอยติวานนท์-ปากเกร็ด 4
6.สถานีปากเกร็ด
 ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของห้าแยกปากเกร็ด ก่อนเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสนามฟุตบอล Feel So Good
 7.สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
 ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนถึงทางแยกตัดกับถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยด้านทิศใต้ของสถานีเป็นโฮมโปร  และด้านทิศเหนือเป็นบริษัท ไทยการ์เมนต์ เอ็กซปอร์ต
8.สถานีแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 28
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะโดยทิศใต้ของสถานีเป็นบริเวณแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 28 และด้านทิศเหนือเป็นบริเวณแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 19 ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาแจ้งวัฒนะ
 9.สถานีเมืองทองธานี
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ด้านทิศเหนือของสถานีตั้งอยู่บริเวณระหว่างแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 35 และทางด่วนศรีรัช ในด้านทิศใต้อยู่ระหว่างโรงเรียนคลองเกลือและแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 32
 10.สถานีศรีรัช อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตจังหวัดนนทบุรี ถัดจากทางด่วนศรีรัช โดยทางทิศใต้ของสถานีเป็นห้าง makro แจ้งวัฒนะ ระหว่างแจ้งวัฒนะปากเกร็ด ซอย 38 และ 40
11.สถานีแจ้งวัฒนะ 14 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยด้านทิศเหนือของสถานีอยู่บริเวณระหว่างห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแจ้งวัฒนะและแจ้งวัฒนะ ซอย 14 (ซอยเมืองทอง 1) ใกล้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ห้างบิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแจ้งวัฒนะ และในด้านทิศใต้อยู่ใกล้ซอยคุณวิเวียน
12.สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ใกล้กับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของสถานี และหน้ากองร้อยลาดตระเวนระยะไกลกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
13.สถานีทีโอที
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในด้านทิศใต้ และหน้าอาคาร ณ นคร ในด้านทิศเหนือ
 14.สถานีหลักสี่
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะบริเวณฝั่งตะวันออกของถนนวิภาวดีรังสิต (ฝั่งขาเข้า)  โดยด้านทิศเหนือของสถานีอยู่ริมถนนบนพื้นที่หมวดการทางหลักสี่ กรมทางหลวงระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตและแจ้งวัฒนะ ซอย 8 ซึ่งสถานีนี้สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ด้วยทางเดินยกระดับแบบลอยฟ้า (Skywalk)
15.สถานีราชภัฎพระนคร
 อยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ หน้า Max Value supermarket และบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครฝั่งด้านติดคลองถนน
16.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
 ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ สามารถเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ช่วง หมอชิต-สะพานใหม่)ได้โดยตรง
 17.สถานีรามอินทรา 3
    ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณนี้จะรองรับพื้นที่พักอาศัยขนาดใหญ่ช่วงรามอินทราซอย 3 และ ซอย 5 และตั้งอยู่ด้านหน้าคอนโดมิเนียมลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่ซึ่งอยู่ในด้านทิศเหนือของสถานี
 18.สถานีลาดปลาเค้า
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณรามอินทรา ซอย 23 ในด้านทิศเหนือ และรามอินทรา ซอย 4/3 ในด้านทิศใต้
 19.สถานีรามอินทรา 31
ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณระหว่างรามอินทรา ซอย 33 และซอย 37 ในด้านทิศเหนือของสถานี และระหว่างรามอินทรา ซอย 8 และซอย 10 ในด้านทิศใต้ของสถานี
  20.สถานีมัยลาภ
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 41ในด้านทิศเหนือ และ ช่วงรามอินทรา ซอย 18 ในด้านทิศใต้ ใกล้กับรามอินทรา ซอย 14 (ซอยมัยลาภ)
 21.สถานีวัชรพล
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ถัดจากทางพิเศษฉลองรัช ช่วงบริเวณรามอินทรา ซอย 57/1 และ ซอย 59
 22.สถานีรามอินทรา 40
 อยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทรา ซอย 40 และ 42 ซึ่งอยู่ในด้านทิศใต้ของสถานี และมีปั๊มน้ำมัน Esso ในด้านทิศเหนือของสถานี
 23.สถานีคู้บอน
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงรามอินทรา ซอย 69 และซอย 46
24.สถานีรามอินทรา 83
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างรามอินทราซอย 83 และ 85 ในด้านทิศเหนือ และมีลานจอดรถและรามอินทรา ซอย 54 อยู่ด้านทิศใต้ของสถานี
25.สถานีวงแหวนตะวันออก
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราถัดจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ซึ่งมีห้างแฟชั่นไอส์แลนด์และ The Promenade อยู่ด้านทิศเหนือของสถานี
26.สถานีนพรัตนราชธานี
ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงซอยสวนสยามในด้านทิศใต้ของสถานี ถัดมาจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเล็กน้อย
27.สถานีบางชัน
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา บริเวณระหว่างรามอินทรา ซอย 113 และ ซอย 115 ในด้านทิศเหนือของสถานี และใกล้กับรามอินทราซอย 109 (ซอยพระยาสุเรนทร์)
 28.สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
 ตั้งอยู่บนถนนรามอินทรา ช่วงระหว่างปั๊มน้ำมัน ปตท. และรามอินทรา ซอย 123 ในด้านทิศเหนือของสถานี ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
29.สถานีตลาดมีนบุรี
 เป็นสถานีแรกบนถนนสีหบุรานุกิจ ต่อเนื่องมาจากถนนรามอินทรา ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดนัดจตุจักร 2 ในด้านทิศเหนือ และระหว่างสีหบุรานุกิจ ซอย 16 และซอย 18 ในด้านทิศใต้ของสถานี
30.สถานีมีนบุรี
เป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีมีนบุรีตั้งอยู่ริมถนนรามคำแหง บนพื้นที่ว่างระหว่างรามคำแหง ซอย 192 และคลองสองต้นนุ่น ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นโรงจอดรถไฟฟ้าสายสีชมพู ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร และเป็นสถานีที่สามารถเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มได้โดยตรง

 

ระบบ-ขบวนรถไฟฟ้า
สำหรับระบบรถไฟฟ้าของโมโนเรลสายสีชมพูนี้ บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล(ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้ความร่วมมือกับ CRRC ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นผู้จัดหาให้ทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และระบบขายตั๋วและจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งขบวนรถที่ใช้จะเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด คือ รุ่น Innova 300 เป็นโมโนเรลล้อยางขนาดใหญ่(ซูเปอร์โมโนเรล) โดย 1 ขบวนจะมี 4 ตู้ ทั้งหมดจำนวน 288 ตู้ (72 ขบวน) สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ประมาณ 40,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง มีความเร็วเฉลี่ย 35-80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระยะเวลาดำเนินการ

ระยะเวลาตามสัญญา 33 ปี 3 เดือน แบ่งออกเป็น 2 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1 : งานออกแบบและก่อสร้างโครงการ พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า
 ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน
ระยะที่ 2 : งานให้บริการเดินรถ ระยะเวลา 30 ปี
ทั้งนี้   ภายหลังได้มีการเซ็นสัญญากันไปแล้ว  ทางรฟม.จะเริ่มทะยอยส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินการได้ทันที   สำหรับงานก่อสร้างนั้นคาดว่าจะเริ่มลงมือได้ประมาณปลายปี 2560  โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2563  อย่างไรก็ตาม  หากรฟม.ส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทฯแล้ว ก็จะสามารถลงมือก่อสร้างได้ทันที และมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการนี้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้
เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน จากพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดนนทบุรี  ให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ได้แก่ สายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีน้ำเงิน
ขณะเดียวกัน  ผู้โดยสารจะสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียว  ทั้งบัตรประเภทเที่ยวเดียวและบัตรเติมเงิน(บัตรแมงมุม) เดินทางได้ทั้ง 3 ระบบ คือ สายสีเขียว
 สายสีชมพู และสายสีเหลือง โดยจะออกแบบให้เป็นลักษณะการเชื่อมต่อแบบ Paid to Paid ที่ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบ เพียงแตะบัตรเข้าและออกเพียงครั้งเดียว
นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความสมบูรณ์ที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้เสนอ ข้อเสนอเพิ่มเติมในการสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู จากสถานีศรีรัชเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร โดยจะใช้งบประมาณของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์เองทั้งหมด