วิธีดูแลกุหลาบให้สวยเป๊ะ

ดอกไม้ในฝันของสาวๆ คงหนีไม่พ้น “กุหลาบ” ราชินีแห่งดอกไม้ใช่ไหมครับ ไม่ว่าเทศกาลไหนเราก็มักจะนิยมให้ดอกกุหลาบเพื่อแทนความหมายดี ๆ ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสี แต่ละสายพันธุ์ หรือหลายคนอาจจะไม่อยากรอจนถึงช่วงเทศกาล แต่อยากมีแปลงดอกกุหลาบสวยบานสะพรั่งอยู่รอบบ้านวันนี้  จึงอยากชวนทุกคนมาลองปลูกกุหลาบให้สวยเป๊ะกันครับ

การปลูก

บริเวณปลูก ควรเลือกบริเวณที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 6 ชั่วโมง อากาศโปร่งโล่งและลมไม่แรงจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้กิ่งกุหลาบหักเสียหายได้

ระยะห่าง การปลูกลงแปลงควรปลูกให้ทรงพุ่มห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกต่อการตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย ส่วนการปลูกลงกระถางควรเลือก กระถางให้มีขนาดพอดีกับทรงพุ่ม ไม่แน่นจนเกินไป

ดิน กุหลาบชอบดินระบายน้ำดี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ถ้าหากปลูกลงกระถางก็ควรเปลี่ยนดินทุกปี

การคลุมหน้าดิน นำฟางข้าว เศษหญ้า หรือขุยมะพร้าวที่เก่าและย่อยสลายแล้วมาคลุมรอบโคนต้นเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน ลดการระเหยของน้ำ ลดการงอกของวัชพืช และลดการชะล้างของหน้าดิน

ฤดู กุหลาบเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน และ เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

การรดน้ำ ควรรดน้ำสม่ำเสมอทุกวันช่วงเช้าประมาณ 7.00 น.- 8.00 น. ด้วยน้ำสะอาดที่ไม่เป็นกรดหรือด่างจนเกินไป ในขณะที่ยังมีแสงแดดอ่อนๆ เพราะหากรดน้ำช่วงแดดแรงหรือร้อนมากๆ อาจทำให้ใบเฉาหรือเกิด รอยไหม้ และควรระวังไม่ให้ดินแฉะหรือมีน้ำขัง เพราะอาจจะทำให้รากเน่า ต้นตายได้

การตัดแต่ง การปลิดยอด เด็ดยอดบริเวณเหนือตาประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อให้เกิดยอดใหม่ พัฒนาไปเป็นตาดอก หรือหากหลังการแต่งกิ่ง กุหลาบแตกตา ใหม่ขึ้นมาเยอะเกินไปควรปลิดทิ้ง เพื่อให้ดอกที่เกิดมาสมบูรณ์ การตัดแต่งเล็ก หากปล่อยให้ต้นกุหลาบสูงจนเกินไป อาจทำให้เสียทรงพุ่มและดอก ไม่สมบูรณ์ได้ ควรตัดก้านช่อดอกเก่าออก กำจัดกิ่งที่แห้ง แก่ เป็นโรค หรือกิ่งที่เบียดกันเป็นประจำ เพื่อไม่ให้บังแสงกันเอง และช่วยป้องกันกิ่งดีให้สามารถเจริญเติบโตได้ ช่วยกระตุ้นให้ตา แตกยอดได้เร็วขึ้น การตัดแต่งใหญ่ ตัดกิ่งเล็กๆ ออกหรือตัดกิ่งใหญ่ให้สั้นลงปีละ 2 ครั้งเพื่อควบคุมทรงพุ่มไม่ให้แน่นจนเกินไป

 

การใส่ปุ๋ยบำรุง สามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโต ของกุหลาบ เพื่อช่วยเพิ่มความโปร่ง ร่วนซุย และธาตุอาหารให้แก่ดิน โดยอาจให้ปุ๋ยเม็ดสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ต้นละ 5-10 กรัม ทุก 2 สัปดาห์ โดยการเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ห่างจากโคนต้น ประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อหยอดปุ๋ยเวียนรอบโคนต้นไปเรื่อยๆ หรืออาจใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 20-20-20 ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 กรัม ต่อ 1 ลิตร รอบโคนต้นประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง  ซึ่งปุ๋ยเคมีจะดูดซึมได้เร็วกว่า มีธาตุอาหารสูงกว่า แต่อาจทำให้ดินแน่นแข็ง จึงควรสลับกับการให้ปุ๋ยคอก โดยปุ๋ยคอกที่ใช้ควรผ่านกระบวนการหมักและ ย่อยสลายก่อน ไม่ควรนำปุ๋ยคอกใหม่มาใช้ เพราะอาจทำให้กุหลาบ ขาดธาตุไนโตรเจนซึ่งอาจส่งผลต่อระบบรากของต้นกุหลาบ  โดยดินถุง ที่ซื้อมาอาจเก็บไว้ 1-2 เดือนก่อนนำมาใช้

การขยายพันธุ์ ตอนกิ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์กุหลาบอย่างง่าย แต่ต้นกุหลาบจะ ไม่มีรากแก้ว จึงไม่แข็งแรงเท่าต้นที่ได้จากการติดตา ปักชำ เป็นวิธีขยายพันธุ์กุหลาบอย่างง่าย แต่ต้นกุหลาบที่ได้ อาจมีระบบรากไม่แข็งแรงนัก นิยมใช้ขี้เถ้าแกลบหรือ ทรายผสมขุยมะพร้าวเป็นวัสดุในการปักชำ ติดตา นิยมนำตาของกุหลาบพันธุ์ดีที่หายากมาติดบนต้นตอ กุหลาบป่า มักใช้ในการปลูกเพื่อการค้าและในการตัดดอก เพราะจะได้จำนวนมาก


โรคและแมลง โรคใบจุดสีดำ (Black Spot) มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Diplocarpon rosae ทำให้เกิดจุดกลมสีน้ำตาล หรือสีดำบนใบและใบร่วง มักระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถลุกลามได้เร็ว โรคราแป้ง (Powdery Mildew) มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Sphaerotheca pannosa ทำให้ใบกุหลาบมีฝุ่นแป้ง เกาะและมีอาการหงิกงอ มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนแห้งในตอนกลางวัน และอากาศเย็นชื้นในตอนกลางคืน โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Peronospora sparsa ทำให้ดอกและใบมีแต้ม สีแดงคล้ายสนิม มักเกิดในช่วงที่มีหมอกและน้ำค้างมาก หนอน มีทั้งหนอนผีเสื้อกลางคืนที่ทำลายใบจนโปร่งใสหรือเป็นรูแหว่ง และหนอนเจาะดอก โดยตัวผีเสื้อจะวางไข่บนกลีบดอกด้านนอกเมื่อไข่ฟัก เป็นตัวจะเจาะเข้าไปภายในและกัดกินดอกจนเสียหาย เพลี้ยไฟ แมลงขนาดเล็ก ระบาดมากในช่วงอากาศแห้ง มักอาศัยอยู่ตามซอกกลีบ คอยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบหงิก ดอกบิดเบี้ยว กลีบดอกมีลายด่างสีขาว ไรแดง แมลงสีแดงหรือสีเหลืองขนาดเล็กมาก มักระบาดในช่วงฤดูแล้ง อาศัย อยู่ตามใต้ใบและดูดกินน้ำเลี้ยง จนทำให้ใบเป็นแถบสีเหลืองซีดและร่วง ในที่สุด